ภาควิชาการเงินและการธนาคาร

เส้นทางอาชีพของผู้ที่สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาการเงินและการธนาคาร

                    หลักสูตรของสาขาวิชาการเงินและการธนาคารเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาเป็น “นักการเงินมืออาชีพ” ผู้ที่ได้รับการศึกษาในหลักสูตรฯจะได้รับทั้งความรู้และทักษะทางการเงินที่รอบด้านและทันสมัย เพื่อรองรับเส้นทางอาชีพที่หลากหลายในอนาคตของผู้เรียน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานกับบริษัทหรือหน่วยงานของรัฐในแผนกการเงิน การทำงานกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ หรือสถาบันการเงินอื่นเพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน ตลอดจนการประกอบประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือการประกอบอาชีพอิสระเป็นนักลงทุนเต็มตัว เส้นทางอาชีพของ “นักการเงิน” จึงมีโอกาสและทางเลือกมากมาย ตัวอย่างอาชีพของนักการเงินที่น่าสนใจ ได้แก่

  • เจ้าหน้าที่การเงิน (Finance Officer)

                 เจ้าหน้าที่การเงินของบริษัทมีหน้าที่สำคัญในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของบริษัท เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการเงิน การควบคุมและตรวจสอบด้านการเงิน ตลอดจนการจัดทำรายงานทางการบัญชีและการเงินประเภทต่างๆเพื่อนำเสนอให้ผู้บริหารสำหรับการตัดสินใจทางการเงิน เช่น การจัดทำงบประมาณการลงทุน หรือการวิเคราะห์ทางเลือกเพื่อหาแหล่งเงินทุน เป็นต้น

  • Chief Financial Officer (CFO)

                  CFO เป็นผู้บริหารสูงสูดทางด้านการเงินของบริษัทหรือองค์กร มีหน้าที่หลักในการกำหนดเป้าหมายและแผนการเงินของบริษัท ตลอดจนการกำกับดูแลการดำเนินงานทางด้านการเงินและบัญชีของบริษัทให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนงานที่ได้วางไว้ CFO มีบทบาทที่สำคัญในการกำหนดงบประมาณการลงทุน การตัดสินใจลงทุนในโครงการต่างๆ การจัดหาแหล่งเงินทุนของบริษัท การบริหารความเสี่ยงทางการเงิน ตลอดจนการกำหนดกลยุทธ์การสื่อสารกับนักลงทุนและผู้ที่ใช้ข้อมูลทางการเงินอื่นๆ เป็นต้น

  • เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ (Credit Analyst)

                    เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ เป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญสำหรับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินซึ่งมีรายได้หลักมาจากการให้สินเชื่อ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อทำหน้าที่พิจารณาสินเชื่อโดยการรวบรวมข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อ ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว ประเมินมูลค่าของหลักประกัน ประเมินปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการชำระหนี้ในอนาคตของผุ้ขอสินเชื่อ เจ้าหน้าที่สินเชื่อจึงต้องทำงานอย่างรอบคอบ และพิจารณาอนุมัติสินเชื่อตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อและภายใต้นโยบายการให้สินเชื่อของบริษัท

  • วาณิชธนากร (Investment Banker)

                   วาณิชธนากร ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแก่บริษัทหรือองค์กรของรัฐในการระดมเงินทุนทั้งในรูปแบบของการออกตราสารหนี้หรือการออกตราสารทุน รวมทั้งให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆที่สำคัญ เช่น การควบรวมกิจการ การซื้อหรือขายกิจการ การปรับโครงสร้างหนี้ การปรับปรุงระบบควบคุมภายใน เป็นต้น วาณิชธนากรจึงต้องมีความรู้ที่รอบด้าน ทั้งทางด้านธุรกิจ การเงิน บัญชี และเศรษฐศาสตร์ มีความเข้าใจข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และของตลาดหลักทรัพย์ มีสามารถในการใช้เครื่องมือเพื่อสร้างแบบจำลองทางการเงิน ตลอดจนมีทักษะในการสื่อสารและการนำเสนอที่ดี

  • นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst)

                  นักวิเคราะห์การลงทุนมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลด้านการลงทุน เพื่อนำมาวิเคราะห์และนำเสนอในรูปแบบของบทวิเคราะห์การลงทุน บทวิเคราะห์การลงทุนถือเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุน เนื่องจากเนื้อหาในบทวิเคราะห์มักจะเป็นข้อมูลที่ทันเหตุการณ์ เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจลงทุนและการกำหนดกลยุทธ์การลงทุน ในการจัดทำบทวิเคราะห์นักวิเคราะห์จำเป็นต้องประเมินปัจจัยต่างๆที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทหรือหลักทรัพย์ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับมูลค่าที่เหมาะสมและทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ ดังนั้นผู้ที่สนใจทำงานเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนจึงต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ อ่านงบการเงินเป็น สามารถใช้เครื่องมือและแบบจำลองทางการเงิน ตลอดจนมีทักษะในการสื่อสาร และนำเสนอที่ดี

  • ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager)

                  ผู้จัดการกองทุนเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ที่ทำหน้าที่บริหารเงินของกองทุนหรือเงินของผู้ลงทุน งานผู้จัดการกองทุนจึงเป็นที่ต้องการของสถาบันการเงินต่างๆ เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ และเป็นที่ต้องการของหน่วยงานของรัฐ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกองทุนประกันสังคม เป็นต้น หน้าที่ของผู้จัดการกองทุนเริ่มตั้งแต่การวางแผนการลงทุน การเลือกประเภทของตราสาร การกำหนดสัดส่วนการลงทุนของแต่ละตราสาร การตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนต้องอยู่ภายใต้นโยบายการลงทุนของบริษัทและของกองทุน สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของผู้ลงทุน และเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้ ผู้จัดการกองทุนจึงต้องมีทักษะในการคิดและวิเคราะห์เช่นเดียวกับอาชีพนักการเงินอื่นๆ และต้องหมั่นติดตามข่าวสาร ความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนของกองทุน




สารสนเทศนักศึกษาระดับปริญญาตรี

สารสนเทศนักศึกษาระดับปริญญาตรี